โดย Peter Bouckaert บน ประชาไท
ประเทศไทยถือว่ามีระบบยุติธรรมคู่ขนานกันสองระบบ หนึ่งคือระบบสำหรับคนรวยและคนที่มีเส้นสาย ส่วนอีกหนึ่งระบบเอาไว้ใช้กับคนไทยคนอื่นๆ
วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม เป็นวันครบรอบ 20 ปีของวันที่มืดมนมากสุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยช่วงที่ผ่านมา ยี่สิบปีที่แล้วในวันนี้ ในช่วงเทศกาลถือศีลอดเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสงบขนาดใหญ่ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีการใช้กระสุนจริงยิงสังหารผู้ประท้วงจนเสียชีวิตเจ็ดคน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากนั้นกลับโหดร้ายมากกว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้พาตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับประมาณ 1,300 คนขึ้นรถบรรทุกทหาร เพื่อนำตัวไปสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งอยู่ห่างออกไปในจังหวัดปัตตานี โดยขนพวกเขาซ้อนทับกันห้าหรือหกชั้นเหมือนเป็นท่อนซุงมนุษย์บนรถบรรทุก เมื่อเดินทางไปถึงค่ายทหาร ผู้ประท้วงที่ถูกควบคุมตัว 78 คนขาดอากาศหายใจ ไม่ก็ถูกร่างของผู้ประท้วงคนอื่นทับจนเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีการรักษาพยาบาลในค่ายทหาร ผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่น ๆ อีกจำนวนมากจึงได้รับบาดเจ็บซึ่งนำไปสู่การตัดแขนหรือขา และภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์อื่นตามมา
วันนี้ของอีก 20 ปีให้หลัง เหตุการณ์ตากใบไม่เพียงเป็นตัวแทนวาระครบรอบการสังหารหมู่ที่โหดร้ายและป้องกันได้ หากยังเป็นสัญลักษณ์ของการลอยนวลพ้นผิดอย่างสมบูรณ์ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทย เนื่องจากจะไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดจากการสังหารครั้งนี้อีกเลย หลังผ่านไป 20 ปี อายุความการฟ้องคดีตามกฎหมายไทยได้สิ้นสุดลง ทำให้พวกเขาไม่ต้องเข้ารับการไต่สวนของศาล
ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุสังหารหมู่ที่อำเภอตากใบ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลได้เคยเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการสังหารครั้งนี้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงสามนายมีส่วนรับผิดชอบสำคัญต่อเหตุการณ์นี้ ได้แก่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.สินชัย นุตสถิต ผู้ช่วยของเขา และพล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
แต่ในประเทศไทย เราใช้ระบบยุติธรรมสองระบบคู่ขนานกัน ระบบหนึ่งสำหรับพลเมืองไทยทั่วไปและนักกิจกรรม ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยความอยุติธรรมที่สุดโต่ง การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยพลการ สภาพอันแออัดยัดเยียดในสถานที่คุมขัง และการถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนดและไม่ได้เข้ารับการพิจารณาคดี ส่วนอีกระบบหนึ่ง เอาไว้ใช้กับชนชั้นนำผู้มีอำนาจและร่ำรวยในประเทศไทย พวกเขาสามารถหลบเลี่ยงจากความรับผิดจากการกระทำของตนเองได้อย่างง่ายดาย และได้รับการคุ้มครองจากกองกำลังความมั่นคงไม่ให้ต้องเข้ารับการไต่สวน แม้ว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ควรมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับคนไทยทุกคนอย่างเสมอกันก็ตาม
ก่อนหน้านี้ไม่นาน พล.อ.พิศาลยังคงเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ตัวเขาและจำเลยคนอื่น ๆ เพิ่งจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อ “รับการรักษาพยาบาล” หลีกเลี่ยงความพยายามเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเอาผิดกับเขาเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่ตากใบ เดือนธันวาคมที่แล้ว ตำรวจไทยให้ปากคำที่รัฐสภาว่า พวกเขาไม่สามารถหาสำนวนคดีเหตุการณ์ตากใบได้
ช่วงหลายปีหลังเกิดการสังหารหมู่ที่ตากใบ นักกิจกรรมที่รณรงค์เพื่อให้เกิดความรับผิดต่อการสังหารครั้งนี้กลับตกเป็นเป้าหมาย ถูกสังหาร หรือถูกอุ้มหาย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ก่อนครบสองปีหลังการสังหารหมู่ คนร้ายไม่ทราบชื่อได้ยิงนายมูฮัมหมัด ดือไน ตันยโน อาย 40 ปี ผู้ใหญ่บ้านในอำเภอตากใบจนเสียชีวิต หลังจากเขานำตัวผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบไปพบกับแม่ทัพภาคที่ 4 ในเดือนตุลาคม 2550 มือปืนไม่ทราบชื่อได้ยิงสังหารนายมะยูโซ๊ะ มะหลง สามีของนางแยนะ สะแลแม หนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทสำคัญมากสุดที่ทำงานเพื่อความยุติธรรมในเหตุการณ์ตากใบ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมยังรำลึกถึงความทรงจำอันเจ็บปวดจากการรับฟังปากคำของผู้รอดชีวิตที่ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ให้กับฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว พวกเขาอธิบายว่าต้องดิ้นรนอย่างทุกข์ทรมานเพื่อให้มีชีวิตรอด ในขณะที่ร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่น ๆ ถูกวางทับซ้อนทั้งด้านบนและด้านล่างของพวกเขา และแต่ละคนทยอยหมดอากาศหายใจไป
สำหรับประชากรเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ความล้มเหลวในการการหาตัวผู้รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ที่ตากใบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กลายเป็นเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งที่สร้างความทุกข์ระทม เพิ่มเข้ามาในบัญชีของความปวดร้าวที่ยาวเป็นหางว่าว เป็นอีกเหตุการณ์ของการเลือกปฏิบัติ และการใช้กำลังจนเกินขอบเขตเพื่อปราบปรามชุมชนของพวกเขา สิ่งที่เกิดขึ้นจะยังคงเติมเชื้อไฟให้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยต่อไป เมื่อไม่มีความยุติธรรมและความรับผิด ย่อมไม่มีทางออกในระยะยาวให้กับความขัดแย้งที่ถูกเพิกเฉยมายาวนาน
วันนี้เป็นวันแห่งชัยชนะของการลอยนวลพ้นผิดเหนือความยุติธรรมในประเทศไทย